วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การทำน้ำหมักชีวภาพ(EM)

                            ก่อนที่จะลงมือทำ เราควรทราบหลักการทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพกันก่อนคือ ประเด็นแรกคือ ความสะอาด ไม่มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ประเภททำลายหรือทำให้เกิดการบูดเน่า ซึ่งการใช้ภาชนะที่สะอาดและมีฝาดปิดมิดชิดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรละเลย ประการต่อมาคือ ขณะหมักจะต้องวางถังหมักไว้ในที่ร่มไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง เพราะจะทำให้กลุ่มจุลินทรีย์ส่วนใหญ่ตายและแสงแดดยังสลายสารอาหารที่เป็นประโยชน์ด้วย ประการต่อมาคือ ต้องให้เวลาในการหมักนานประมาณ 3 เดือนเพื่อให้กระบวนการย่อยสลายมีความสมบูรณ์ จึงสามารถนำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพไปใช้งานหรือทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพสำหรับยางพาราหรือพืชทั่ว ๆ ไป และประการสุดท้าย หากต้องการขยายหัวเชื้อ จะต้อง
ทำการละลายน้ำตาลกับน้ำสะอาดก่อนที่จะใส่หัวเชื้อน้ำหมัก

วัสดุและอุปกรณ์ในการทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพในถังขนาด 60 ลิตร

        1. ผลไม้สุก 12 กิโลกรัม เช่น ฟักทอง(เอาทั้งเมล็ด), กล้วยน้ำว้า, มะละกอ, สับปะรด(เอาทั้งเปลือก) ให้ทำการสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ
  
     



     












        2. น้ำตาลธรรมชาติ เช่น น้ำตาลอ้อย, น้ำตาลมะพร้าว, น้ำตาลโตนดที่ไม่ผ่านการฟอกสีหรือเจือปนด้วยน้ำยากันเสีย หรือใช้กากน้ำตาล จำนวน 4 กิโลกรัม
        3. น้ำสะอาด 40 ลิตร ควรเป็นน้ำฝน หากจำเป็นต้องใช้น้ำประปาก็ควรใส่ตุ่มตากแดดเพื่อไล่คลอรีนให้หมดก่อน
        4. ภาชนะหมัก ควรเป็นภาชนะชนิดทึบแสงและมีฝาปิดสนิท ก่อนใช้ควรล้างให้สะอาดและถ้าตากแดดก่อนใช้ก็ยิ่งดี ไม่ควรใช้ภาชนะที่เป็นโลหะเนื่องจากเมื่อใช้ไปนาน ๆ จะถูกกัดจนทะลุได้
        5. ไม้พาย ควรเตรียมไว้ โดยล้างให้สะอาดพร้อมตากแดดก่อนใช้

วิธีทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ

      1. ใส่น้ำสะอาด 40 ลิตร ลงในถังหมักขนาด 60 ลิตร
      2. ใส่กากน้ำตาล จำนวน 4 กิโลกรัม ลงในถังหมัก แล้วใช้ไม้พายกวนให้เข้ากัน
      3. ใส่ผลไม้สุก 12 กิโลกรัม ลงในถังหมัก กวนให้พอเข้ากัน (หลักการผสมคือ ผลไม้สุก 3 กิโลกรัม : กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม : น้ำ 10 ลิตร)
      4. หลังจากใส่ส่วนผสมทั้งหมดแล้วควรมีพื้นที่ว่างเพื่อให้มีอากาศอยู่ประมาณ หนึ่งในห้า ของภาชนะ ทำการปิดฝาให้สนิท เขียนป้ายบอกวันที่ผลิต และถังหมักควรอยู่ในที่ร่ม
      5. เมื่อครบ 7 วันให้เปิดฝาถังหมักดู ถ้ามีราขาวเกิดขึ้น พร้อม ๆ กับมีกลิ่นส้มฉุน แสดงว่าการหมักของเราได้ผลดี แต่ถ้ามีกลิ่นเหม็นบูด และน้ำเป็นสีดำ ให้ทำการเพิ่มน้ำตาลหรือกากน้ำตาลลงไปอีก แล้วปิดฝา (ถ้ามีหนอนเกิดขึ้น ก็ไม่เป็นไร เพราะอาจจะเกิดจากการปิดฝาไม่สนิท ต่อมาหนอนจะตายกลายเป็นอาหารพืชไปเอง)
      6. เมื่อครบกำหนด 3 เดือน ก็เป็นอันเสร็จ ให้กรองเอาเฉพาะน้ำใส ๆ ด้านบนหรือน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพไปใช้งาน โดยต้องผสมน้ำก่อน ตามอัตราส่วน ดังนี้
                        น้ำหมัก : น้ำ 1: 200 เมื่อนำไปใช้ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ
                        น้ำหมัก : น้ำ 1: 200 เมื่อนำไปใช้ฉีดพ่นหน้ากรีดหรือหน้ายางเพื่อเพิ่มน้ำยาง(1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง)
                        น้ำหมัก : น้ำ 1: 500 เมื่อนำไปใช้กับจำพวกไม้ยืนต้น น้ำหมัก : น้ำ 1:1000 เมื่อนำไปใช้กับจำพวกพืชผัก
                        น้ำหมัก : น้ำ 1:1 หรือใช้น้ำหมักอย่างเดียว(ให้ทดลองว่าแบบใดได้ผลดีกว่า) เพื่อฉีดพ่นกำจัดวัชพืช
                        นอกจากนี้ เมื่อหมักครบ 3 เดือนแล้ว ก็สามารถนำไปขยายหัวเชื้อต่อ ได้อีก                                      

     7. นำกากที่เหลือไปทำปุ๋ย โดยเทรอบ ๆ โคนต้นในรัศมีพุ่มใบต้นไม้ หรือปล่อยกากที่เหลือไว้ก้นถังหมักเพื่อขยายหัวเชื้อต่อ

หมายเหตุ: ระหว่างการหมัก หรือก่อนครบ 3 เดือน ถ้าสังเกตุเห็นว่าถังบวม ให้รีบเปิดฝาเพื่อระบายอากาศออก แล้วรีบปิดฝาให้สนิททันทีเพื่อป้องกันเชื้ออื่นแทรกลงไป

วิธีการขยายหัวเชื้อน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ 

        1. ผสมกากน้ำตาล 1 ส่วนกับน้ำสะอาด 8-10 ส่วน ในภาชนะที่จะใช้หมัก
        2. ใส่น้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ 1 ส่วน ลงไปในถังหมัก (ต้องทำข้อ 1 ก่อนเสมอ)
        3. หมักไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 1-2 เดือน
        4. เปิดฝาและสังเกตุดูว่าน้ำหมักที่ได้ ถ้ามีสีน้ำตาลอมเหลือง หรือมีฝ้าลอยอยู่บนผิว และมีกลิ่นส้มฉุน หรือกลิ่นส่าเหล้า แสดงว่านำ ไปใช้งานได้แล้ว หรือจะทำการขยายหัวเชื้อต่อไป ก็ได้

หมายเหตุ: หากทำได้ ทุก 2 เดือนเราควรขยายน้ำหมักชีวภาพ โดยใช้กากน้ำตาลและน้ำตามขั้นตอนที่กล่าวมา น้ำจะเป็นบ้านหลังใหญ่ให้กับเหล่าจุลินทรีย์ทั้งหลาย กากน้ำตาลจะเป็นอาหารที่ทำให้เหล่าจุลินทรีย์มีพลังงานและแข็งแรง ผลิตลูกผลิตหลานให้มีจำนวนมากขึ้น ๆ พร้อม ๆ กับสร้างสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์และพลังงานที่เก็บอยู่ในรูปสารอาหาร
             การขยายน้ำหมักชีวภาพให้มีอายุมากขึ้น ๆ ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มปริมาณเหล่าจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์พร้อมสร้างสารอาหารให้มากขึ้นและซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้น การนำน้ำหมักชีวภาพที่มีอายุน้อย ๆ เช่น 7 วัน หรือ 15 วัน มาใช้งาน ก็เปรียบเสมือนเด็กทารกที่มีพละกำลังน้อย เสบียงน้อย ฤา จะสู้กับน้ำหมักที่มีอายุยาวนาน 2 ปีหรือมากกว่า ซึ่งจะเป็นจุลินทรีย์ที่มีพละกำลังและเสบียงมากกว่า ได้ นั่นคือ น้ำหมักชีวภาพหรือจุลินทรีย์ที่มีอายุยาวนาน ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เป็นเคล็ดลับ(ที่ไม่ลับ)สุดยอดที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการใช้งานด้านต่าง ๆ
           น้ำหมักชีวภาพหรือจุลินทรีย์ที่มีอายุยาวนาน ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เหมาะสำหรับใช้งานด้านการ
เกษตรและการซักล้าง น้ำหมักชีวภาพหรือจุลินทรีย์ที่มีอายุยาวนาน ตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เหมาะสำหรับใช้งานในการบำบัดน้ำเสีย, กำจัดกลิ่นเหม็น, สลายสารพิษหรือสารเคมีตกค้าง ดังนั้น จึงควรขยายน้ำหมักชีวภาพเสมอ ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ เพื่อให้ได้น้ำหมักชีวภาพที่เปี่ยมล้นด้วยคุณภาพ

ข้อมูลจาก เว็บระบบจัดการความรู้ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น